วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


 ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม
        เน้นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยการเชื่อมโยงระหว่าง สิ่งเร้า (Stimulus-คือสิ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรม) และการตอบสนอง (Response - ตัวพฤติกรรม) โดยอินทรีย์จะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองอันนำไปสู่ความสามารถในการแสดงพฤติกรรม คือ เกิดการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้เท่านั้น ในการเรียนรู้ความจริงกลุ่มนี้ก็สนใจเกี่ยวกับกระบวนการคิดและปฏิกิริยาซึ่งเกิดขึ้นภายในเหมือนกัน แต่ว่ายากแก่การสังเกตและรู้สึกว่ามิใช่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงสนใจเฉพาะสิ่งที่สังเกตได้เท่านั้น
       แนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  
 1. พฤติกรรมทุกอย่างที่เกิดโดยการเรียนรู้และสามารถสังเกตได้
 2. พฤติกรรมแต่ละชนิดเป็นผลรวมของการเรียนรู้ที่เป็นอิสระหลายอย่าง
 3. แรงเสริม(Reinforcement) ช่วยทำให้พฤติกรรมเกิดขึ้นได้

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม (Cognitive Theory)
 ปัญญา นิยมหรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจ หรือบางครั้งอาจเรียกว่ากลุ่มพุทธินิยม เป็นกลุ่มที่เน้นกระบวนการทางปัญญาหรือความคิด นักคิดกลุ่มนี้ ได้ขยายขอบเขตของความคิดที่เน้นทางด้านพฤติกรรม ออกไปสู่กระบวนการทางความคิด ซึ่งเป็นกระบวนการภายในสมอง นักคิดกลุ่มนี้เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมที่เกิด จากกระบวนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงเท่านั้น การเรียนรู้ของมนุษย์มีความซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางความคิดที่เกิดจากการสะสมข้อมูล การสร้างความหมาย และความสัมพันธ์ของข้อมูล และการดึงข้อมูลออกมาใช้ในการกระทำและการแก้ปัญหาต่างๆ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสติปัญญาของมนุษย์ในการที่จะสร้างความรู้ความ เข้าใจให้แก่ตนเอง
ทฤษฎีปัญญานิยมนี้  เกิดขึ้นจากแนวคิดของชอมสกี้ (Chomsky) ที่ไม่เห็น ด้วยกับสกินเนอร์ (Skinner) บิดา ของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม ในการมองพฤติกรรมมนุษย์มนุษย์ไว้ว่า เป็นเสมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ชอมสกี้เชื่อว่า พฤติกรรมมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของภายในจิตใจ มนุษย์ไม่ใช่ผ้าขาวที่เมื่อใส่สีอะไรลงไปก็จะกลายเป็นสีนั้น มนุษย์มีความนึกคิด มีอารมณ์จิตใจและความรู้สึกภายในที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการออกแบบการเรียนการสอนก็ควรที่จะคํานึงถึงความแตกต่างภายในของ มนุษย์ด้วย

ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema theory)
ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ (Schema theory) มีความเชื่อว่า ความรู้ของคนเราจะได้รับการรวบรวมเป็นหน่วยๆ เรียกว่า โครงสร้างความรู้ (Schemata) ซึ่งเป็นหน่วยความรู้ที่ได้รับการเรียบเรียงขึ้นจากความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับผู้คน สิ่งของ สถานที่ เหตุการณ์ กระบวนการ มโนมติ และสิ่งต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานให้เกิดการเรียนรู้ (Rumelhart, 1984) ซึ่ง Piaget (1970) เสนอว่าความเติบโตทางสติปัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนจัดจำแนกจำพวกทางด้านความคิด หรือโครงสร้างความรู้ ซึ่งประกอบไปด้วยมโนมติเกี่ยวกับสิ่งของและเหตุการณ์ที่มีคุณลักษณะทั่วไปหรือคุณลักษณะเฉพาะบางประการร่วมกัน เมื่อคนเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งใหม่หรือสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย จะเกิดการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้จัดจำพวกไว้แล้ว  ถ้ามีลักษณะผสมกลมกลืนกัน ก็จะเพิ่มความรู้ใหม่เข้ากับโครงสร้างที่มีอยู่เดิม (Assimilation) แต่ถ้าข้อมูลใหม่นั้นไม่อยู่ในลักษณะความรู้ที่มีอยู่แล้ว ก็จะเกิดการปรับความรู้ด้วยการสร้างโครงสร้างความรู้ขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนโครงสร้างความรู้เก่าด้วยความรู้ใหม่ (Accommodation) โดยวิธีการนี้โครงสร้างความรู้ที่จัดตั้งขึ้นจะมีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น ส่วน Graves, Juel, & Graves (1998) ระบุว่า ทฤษฎีโครงสร้างความรู้ เป็นมโนมติหนึ่งที่สำคัญของจิตวิทยาพุทธิปัญญานิยม โดยที่ทฤษฎีนี้ให้ความสนใจทางด้านความรู้ที่มีอยู่ในสมองของคนเรา และความสำคัญของความรู้เหล่านี้ที่มีต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเชื่อว่าความรู้จะถูกรวบรวมในโครงสร้างที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ เรียกว่า โครงสร้างความรู้ (Schemata) และ Rumelhart (1980) กล่าวว่า โครงสร้างความรู้เป็นที่รวบรวมความรู้ของคนเราเกี่ยวกับสิ่งของ สถานการณ์ เหตุการณ์ ลำดับขั้นของเหตุการณ์ การกระทำ ลำดับขั้นของการกระทำ โดยที่เรามีโครงสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งของ เช่น บ้าน เกี่ยวกับสถานการณ์ เช่น การอยู่ในชั้นเรียน เกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น การไปดูการแข่งขันฟุตบอล และเกี่ยวกับลำดับขั้นของเหตุการณ์ เช่น ตื่นนอน รับประทานอาหาร อาบน้ำ และไปทำงาน เราตีความประสบการณ์ไม่ว่าจะโดยตรงจากการเผชิญกับสิ่งต่างๆหรือโดยอ้อมจากการอ่าน โดยการเปรียบเทียบ หรือการจับคู่ประสบการณ์นั้นๆเข้ากับโครงสร้างความรู้ ถ้าหากผู้อ่านมีเครือข่ายโครงสร้างความรู้ที่รวบรวมไว้อย่างหลากหลาย ก็จะมีความพร้อมสูงในการเลือกดึงมาใช้ ถ้าหากเรามีความรู้เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งยิ่งมากก็จะง่ายขึ้นในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องนั้นๆและก็จะยิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้น โครงสร้างความรู้จะช่วยอันดับแรกก็คือช่วยให้สิ่งที่อ่านมีความหมาย สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ใหม่กับความรู้เดิม พิจารณาความสำคัญของความสัมพันธ์ของข้อมูลในบทอ่าน การสรุปโดยนัย และการจดจำ (Anderson & Pearson, 1984) โครงสร้างความรู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการอ่านมี 3 ชนิด ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆบนโลก ความรู้เกี่ยวกับลักษณะการเรียบเรียงบทอ่าน และความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา (Adams & Bruce, 1982)
                กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีโครงสร้างความรู้เชื่อว่า การอ่านเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับบทอ่าน โดยอาศัยความรู้เดิมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในการอ่านบทอ่านต่างๆ